การเดินทางขณะตั้งครรภ์ทำอย่างไร ?
การเดินทางโดยเครื่องบินผู้โดยสารที่ตั้งครรภ์จะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ไม่สามารถนั่งเก้าอี้ตรงทางออกฉุกเฉินได้ เพราะผู้นั่งตำแหน่งดังกล่าวต้องมีความพร้อมด้านร่างกายที่จะช่วยเหลือพนักงานต้อนรับในอากาศยานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ดังนั้นในการเดินทางโดยเครื่องบินทุกครั้ง ผู้ที่ตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องแจ้งอายุครรภ์ให้สายการบินทราบ ตั้งแต่การสำรองที่นั่งและที่เคาน์เตอร์เช็กอิน
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ได้ให้แนวปฏิบัติสำหรับสายการบินในการให้บริการผู้โดยสารที่ตั้งครรภ์ไว้ ดังนี้
• ครรภ์เดี่ยว หากอายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์ ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ที่สายการบินนั้น ๆ ยอมรับ
• ครรภ์แฝด หากอายุครรภ์เกิน 32 สัปดาห์ ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ที่สายการบินนั้น ๆ ยอมรับ
• ผู้โดยสารที่ตั้งครรภ์และมีภาวะแทรกซ้อน ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ที่สายการบินนั้น ๆ ยอมรับ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณีว่าสามารถเดินทางได้หรือไม่
• ผู้โดยสารที่แท้งบุตร หรือมีภาวะแท้งคุกคาม หากยังมีเลือดออกต้องให้แพทย์ที่สายการบินนั้น ๆ ยอมรับตรวจ แต่หากอาการปกติและไม่มีอาการเจ็บปวดต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง สามารถเดินทางได้
*หมายเหตุ* อายุครรภ์นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last menstrual period; LMP) และพิจารณาจากใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันจำนวนสัปดาห์การตั้งครรภ์จากแพทย์เจ้าของไข้
ทั้งนี้ ในกรณีที่พบข้อสังเกตใด ๆ ที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารระหว่างการเดินทางพนักงานของสายการบินสามารถสอบถามข้อมูลจากผู้โดยสารเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัยสูงสุด
CAAT จึงขอแนะนำให้ผู้โดยสารที่ตั้งครรภ์วางแผนการเดินทางด้วยการตรวจสอบนโยบายการเดินทางขณะตั้งครรภ์ของแต่ละสายการบินให้เรียบร้อยก่อนสำรองตั๋วโดยสารทุกครั้ง เนื่องจากแต่ละสายการบินอาจมีเงื่อนไขการเดินทางที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะการตั้งครรภ์ ซึ่งผู้โดยสารอาจต้องเตรียมเอกสารทางการแพทย์หรือต้องกรอกแบบฟอร์มของสายการบินเพิ่มเติม