8 มกราคม 2564
กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ที่ใช้อ้างอิง
บทนำ
เพื่อให้การตรวจเพื่อออกหรือต่ออายุใบสำคัญแพทย์ให้แก่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่ ดำเนินการโดยนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสที่มีคุณสมบัติตามที่ผู้อำนวยการกำหนด และเพื่อให้ผู้ประจำหน้าที่ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าหย่อนคุณสมบัติเกี่ยวกับสุขภาพให้รับการทดสอบโดยการตรวจทางการแพทย์ และ ผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยานที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 7* วันขึ้นไป จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เมื่อนายแพทย์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดจะได้ตรวจและออกใบรับรองว่าผู้ประจำหน้าที่นั้นได้หายจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บและพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ผู้ประจำหน้าที่นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 มาตรา 47 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 89 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จึงออกระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยนายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน และสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน พ.ศ. 2560 ไว้ดังต่อไปนี้
วัตถุประสงค์
เพื่อให้การบริหารระบบนายแพทย์ผู้ตรวจด้านเวชศาสตร์การบินพลเรือน ขั้นตอนในการแต่งตั้งและสิ้นสุดของนายแพทย์ผู้ตรวจ การตรวจสุขภาพทางเวชศาสตร์การบินพลเรือนของแพทย์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด และการอุทธรณ์เป็นไปโดยมีระเบียบและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน จึงได้วางระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยนายแพทย์ผู้ตรวจด้านเวชศาสตร์การบินพลเรือน ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือนและสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน พ.ศ. 2560
คำนิยาม
“นายแพทย์ผู้ตรวจ” (Authorized Medical Examiner – AME) หมายความว่า นายแพทย์เวชศาสตร์การบินที่ผู้อำนวยการแต่งตั้งให้มีสิทธิตรวจทางแพทย์แก่ผู้ขอต่ออายุใบสำคัญแพทย์ทุกชั้น
“นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส” (Senior Authorized Medical Examiner – SAME) หมายความว่า นายแพทย์เวชศาสตร์การบินที่ผู้อำนวยการแต่งตั้งให้มีสิทธิตรวจทางแพทย์แก่ผู้ขอรับหรือ ต่ออายุใบสำคัญแพทย์ทุกชั้น
“นายแพทย์ผู้ตรวจสอบ” (Medical Assessor) หมายความว่า นายแพทย์เวชศาสตร์การบินที่ดำรงความรู้และประสบการณ์ด้านเวชศาสตร์การบินอยู่เสมอ ซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานผลการตรวจสุขภาพ (Medical Examination Report) ของนายแพทย์ผู้ตรวจและนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสที่ส่งให้กลุ่มเวชศาสตร์การบิน
“กองเวชศาสตร์การบิน*” (Aeromedical Division – MD) หมายความว่า กองเวชศาสตร์การบิน ฝ่ายมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
“ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน” (Aeromedical Center – AMC) หมายความว่า โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสที่ผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ทำการตรวจเพื่อออกหรือตรวจเพื่อต่ออายุใบสำคัญแพทย์ทุกชั้น และจะต้องมีกิจกรรมทางแพทย์เวชศาสตร์การบิน ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และเวชศาสตร์การบินคลินิก การศึกษาและฝึกอบรมนิรภัยการบินและวิจัยพัฒนา
“สถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน” หมายความว่า โรงพยาบาลที่มีนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสที่ผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ตรวจเพื่อต่ออายุใบสำคัญแพทย์ทุกชั้น และทำการตรวจเพื่อออกใบสำคัญแพทย์ได้เฉพาะใบสำคัญแพทย์ชั้นสองและชั้นสี่
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
คุณสมบัติและการยื่นเอกสาร
ผู้ที่ประสงค์จะขอรับการแต่งตั้งเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือนหรือสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน จะต้องมีคุณสมบัติและยื่นคำขอตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ต่อสำนักงาน พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(1) นายแพทย์ผู้ตรวจ
(ก) คุณสมบัติ
1) ต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา
2) ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์การบินที่ผู้อำนวยการรับรอง
3) ต้องมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
4) ต้องไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกพักใช้การแต่งตั้งเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจ หรือถูกเพิกถอนการแต่งตั้งเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจมายังไม่ครบ 2 ปี
(ข) เอกสารที่ต้องยื่น
1) สำเนาปริญญาบัตรแพทยศาสตรบัณฑิต
2) สำเนาใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา
3) สำเนาวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์การบินที่ผู้อำนวยการรับรอง หรือสำเนาวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การบินจากแพทยสภา
4) ใบรับรองแพทย์
5) หนังสือยินยอมจากสถานที่ที่จะใช้ทำการตรวจ หากไม่ใช่ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือนหรือสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือนที่ผู้อำนวยการแต่งตั้ง จะต้องระบุรายการและจำนวนเครื่องมือที่จะใช้ในการตรวจโดยละเอียดด้วย
6) เอกสารอื่นตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
(2) นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส
(ก) คุณสมบัติ
1) ต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นและทำหน้าที่นายแพทย์ผู้ตรวจมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี
2) ต้องได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงเวชศาสตร์การบินจากแพทยสภา
3) ต้องได้รับการอบรมการศึกษาต่อเนื่องด้านเวชศาสตร์การบิน (Continuing Medical Education – CME) ตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
4) ต้องมีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขอรับการตรวจสุขภาพ
5) ต้องมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
6) ต้องไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบสำคัญการแต่งตั้งเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส หรือถูกเพิกถอนใบสำคัญการแต่งตั้งเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสมายังไม่ครบ 2 ปี
เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นผู้อำนวยการอาจพิจารณาลดหรือยกเว้นคุณสมบัติของนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสตามที่กำหนดใน (ก) ได้ตามที่เห็นสมควร
(ข) เอกสารที่ต้องยื่น
1) สำเนาวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การบินจากแพทยสภา
2) สำเนาเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการอบรมศึกษาต่อเนื่องด้านเวชศาสตร์การบิน (Continuing Medical Education – CME)
3) สำเนาเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอมีประสบการณ์และคุ้นเคยด้านการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขอรับการตรวจสุขภาพ
4) ใบรับรองแพทย์
5) หนังสือยินยอมจากสถานที่ที่จะใช้ทำการตรวจ หากไม่ใช่ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือนหรือสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือนที่ผู้อำนวยการแต่งตั้ง จะต้องระบุรายการและจำนวนเครื่องมือที่จะใช้ในการตรวจโดยละเอียดด้วย
6) เอกสารอื่นตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
ระยะเวลาการประกาศแต่งตั้ง
ผู้อำนวยการจะประกาศแต่งตั้งนายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส โดยมีวาระคราวละ 3 ปี
การขอรับการแต่งตั้งต่อ
นายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ที่ประสงค์จะขอรับการแต่งตั้งต่อ ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงาน ก่อนครบกำหนดอายุในประกาศแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน สำหรับนายแพทย์ผู้ตรวจและ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสให้แนบเอกสารที่แสดงประสบการณ์ด้านเวชศาสตร์การบินเพิ่มเติมจากครั้งก่อน (ถ้ามี) เช่น สำเนารายงานการศึกษา การประชุมทางวิชาการ การดูงาน เป็นต้น พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรทบทวน (Refresher Training) (ถ้ามี)
นายแพทย์ผู้ตรวจและนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสมีหน้าที่และข้อห้าม ดังต่อไปนี้
(1) ทำการตรวจ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการกำหนด
(2) ตรวจทางการแพทย์เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขอรับการตรวจสุขภาพเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่สำนักงานกำหนด และออกใบสำคัญแพทย์ตามสิทธิที่ตนได้รับ
(3) ส่งรายงานผลการตรวจสุขภาพ (Medical Examination Report) ที่ตนวินิจฉัยแล้วว่าจะไม่ออกใบสำคัญแพทย์ไปยังกลุ่มเวชศาสตร์การบินเพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่
(4) ส่งสำเนาคำร้องขอตรวจสุขภาพและรายงานผลการตรวจสุขภาพ (Medical Examination Report) รวมทั้งสำเนาใบสำคัญแพทย์ที่ออกไปยังฝ่ายเวชศาสตร์การบินเป็นรายเดือนโดยไม่ชักช้า
(5) เก็บรักษาข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรายงานผลการตรวจสุขภาพ (Medical Examination Report) ของผู้ขอรับการตรวจสุขภาพทุกรายไว้เป็นความลับ
(6) คงความรู้และศึกษาเพิ่มเติมทางแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับด้านเวชศาสตร์การบิน
(7) เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรทบทวน (Refresher Training) ที่จัดโดยฝ่ายเวชศาสตร์การบินหรือโดยหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากผู้อำนวยการ อย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 4 ปี
(8) ศึกษาและพัฒนาความรู้ความเข้าใจอย่างละเอียดในกฎ ระเบียบ นโยบาย และขั้นตอนการปฏิบัติของสำนักงานที่เกี่ยวกับการออกใบสำคัญแพทย์ตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
(9) ทำความคุ้นเคยและหาประสบการณ์ด้านการบินและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประจำหน้าที่และเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน
(10) ห้ามออกใบสำคัญแพทย์ให้แก่ตนเอง
(11) ห้ามทำการตรวจทางการแพทย์ เมื่อไม่มีประสบการณ์ล่าสุดในการทำหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
(12) ปฏิบัติตามหน้าที่และข้อห้ามอื่นตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
การพิจารณาพักใช้ เพิกถอน หรือไม่ต่ออายุการแต่งตั้งให้เป็นนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส
ผู้อำนวยการอาจพิจารณาพักใช้ เพิกถอน หรือไม่ต่ออายุการแต่งตั้งให้เป็นนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งขาดคุณสมบัติ ตามข้อ (1)(ก) หรือ (2)(ก) หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือข้อห้ามตามที่กำหนดไว้
การแต่งตั้งนายแพทย์ผู้ตรวจสอบ (Medical Assessor)
ให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสที่ดำรงความรู้และประสบการณ์ด้านการบินอยู่เสมอเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจสอบ (Medical Assessor) พร้อมออกใบสำคัญการแต่งตั้งและบัตรประจำตัวนายแพทย์ผู้ตรวจสอบ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจสอบอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจสอบ
นายแพทย์ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
ให้นายแพทย์ผู้ตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานผลการตรวจสุขภาพ (Medical Examination Report) ที่นายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโสส่งให้กองเวชศาสตร์การบินว่ามีความถูกต้องครบถ้วนและเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ รวมทั้งตรวจสอบการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และข้อห้ามของนายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน หรือสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน ตามที่กำหนดไว้ แล้วแต่กรณี
หากมีข้อเท็จจริงปรากฏแก่นายแพทย์ผู้ตรวจสอบว่านายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน หรือสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ แล้วแต่กรณี ให้รายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรมายังสำนักงาน
หมายเหตุ : *ปรับฝ่ายเวชศาสตร์การบินเป็นกองเวชศาสตร์การบิน ตามคำสั่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ 247/2562 สั่ง ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2562 เรื่องการแบ่งส่วนงานย่อย และการกำหนดอำนาจหน้าที่่ตามโครงสร้างใหม่
——————————————————————————————————————————————-
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศแต่งตั้งให้นายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ทีได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตามระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยนายแพทย์ผู้ตรวจ นายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน และสถานที่ตรวจเวชศาสตร์การบินพลเรือน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับ
(1) การสั่งให้ผู้ประจำหน้าที่ซึ่งหย่อนคุณสมบัติเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายรับการทดสอบโดยการตรวจทางแพทย์ตามมาตรา 47 (มาตรา 47 เมื่อเห็นว่าผู้ประจำหน้าที่คนใดหย่อนคุณสมบัติตามมาตรา 44 (3) เกี่ยวกับสุขภาพร่างกายความรู้หรือความชำนาญ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ประจำหน้าที่นั้นรับการทดสอบโดยการตรวจทางแพทย์ หรือรับการทดสอบความรู้ความชำนาญทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติก็ได้ )
(2) การอนุญาตให้ผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยานปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เมื่อนายแพทย์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดได้ตรวจและออกใบรับรองว่าผู้ประจำหน้าที่นั้นได้หายจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ ตามมาตรา 50 (มาตรา 50 ห้ามมิให้ผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยานปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่มีอาการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจกระทำให้เสื่อมสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และถ้าการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บนั้นเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป ห้ามมิให้ผู้ประจำหน้าที่นั้นปฏิบัติหน้าที่ จนกว่านายแพทย์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้จะได้ตรวจและออกใบรับรองว่าผู้ประจำหน้าที่นั้นได้หายจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ผู้ประจำหน้าที่นั้นปฏิบัติ หน้าที่ต่อไป)
———————————-